การดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน

การพัฒนาความยั่งยืน

 

การดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน

นโยบายสิทธิมนุษยชนระดับองค์กร

บริษัทฯ ได้ทบทวนนโยบายสิทธิมนุษยชนและการไม่เลือกปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับหลักการและมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชน โดยยึดหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGP) ที่ว่าด้วยหลักการคุ้มครองสิทธิ (Protect) การเคารพสิทธิ (Respect) และการเยียวยา (Remedy) เมื่อเกิดผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (Universal Declaration of Human Rights: UDHR) สิทธิเด็กและหลักปฏิบัติทางธุรกิจ (Children Rights and Business Principles: CRBP) และการปฏิบัติตามข้อตกลงโลกของ UN Global Compact รวมถึงคำมั่นในการป้องกันและเคารพสิทธิมนุษยชนในประเด็นต่างๆ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนและการไม่เลือกปฏิบัติ

นโยบายสิทธิมนุษยชนและการไม่เลือกปฏิบัติ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของบริษัทฯ

อ่านเพิ่มเติม

กระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence: HRDD)

บริษัทฯ ได้ดำเนินการจัดทำกระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน อ้างอิงแนวทางตามหลักการของ UN Guiding Principles on Business and Human Rights (UNGP) เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติในการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านเป็นประจำ โดยมีความถี่การประเมินอย่างน้อยทุก 3 ปี ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้

1. การกำหนดขอบเขตการตรวจสอบ

บริษัทฯ กำหนดขอบเขตกระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านให้ชัดเจน ครอบคลุม ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง (Vulnerable Group) เช่น เด็ก ผู้พิการ สตรี ชนกลุ่มน้อย ผู้อพยพ แรงงานที่ว่าจ้างผ่านบุคคลที่สาม ชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น เพศทางเลือก ผู้สูงอายุและสตรีตั้งครรภ์ เป็นต้น ในทุกๆ พื้นที่ปฏิบัติการที่บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจหรือมีสิทธิในการควบคุมจัดการ ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน โดยพิจารณาประเด็นสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สิทธิแรงงาน สิทธิชุมชน ห่วงโซ่อุปทาน ความมั่นคงปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และสิทธิผู้บริโภค เป็นต้น

2. การระบุประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง

บริษัทฯ ทบทวนประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ทั้งกิจกรรมทางตรงที่บริษัทฯ ดำเนินการเอง และทางอ้อมผ่านการดำเนินการของคู่ค้า ผู้รับเหมา หรือบริษัทร่วมค้า ซึ่งอาจก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงทบทวนแนวโน้มประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนของกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันในตลาดโลก แล้วนำมาจัดเป็นกลุ่มหัวข้อที่ใกล้เคียงกันเพื่อจัดทำและปรับปรุงรายการตรวจสอบประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และมอบหมายให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมระบุและประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงาน

3. การประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน

บริษัทฯ นำประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่ระบุจากการใช้รายการตรวจสอบประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ มาประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน โดยใช้เมทริกซ์การประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Risk Assessment Matrix) ซึ่งพิจารณาเกณฑ์ระดับผลกระทบ และเกณฑ์ระดับโอกาสที่จะเกิดขึ้น ของประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนแต่ละประเด็น โดยระดับความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนจากการประเมินแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ระดับความเสี่ยงต่ำ ปานกลาง สูง และสูงมาก ดังแสดงในรูปที่ 1

เกณฑ์การประเมินความเสี่ยง: โอกาสที่จะเกิดขึ้น

ระดับโอกาสที่จะเกิดขึ้น ลักษณะของโอกาสที่จะเกิดขึ้น
4 มีโอกาสสูง เหตุการณ์มีโอกาสเกิดขึ้นภายในพื้นที่ปฏิบัติการได้หลายครั้งต่อปี
3 มีโอกาสปานกลาง เหตุการณ์มีโอกาสเกิดขึ้นในพื้นที่ปฏิบัติการได้เป็นครั้งคราว
2 มีโอกาสน้อย เหตุการณ์มีโอกาสเกิดขึ้นในพื้นที่ปฏิบัติการน้อยมาก แต่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น
1 มีโอกาสน้อยมาก เหตุการณ์เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมที่เป็นประเภทเดียวกับพื้นที่ปฏิบัติการ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่ปฏิบัติการ

เกณฑ์การประเมินความเสี่ยง: ผลกระทบ

ระดับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ลักษณะของผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
4 มีผลกระทบสูง
  • ผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนส่งผลกระทบในวงกว้างหรือส่งผลต่อกลุ่มประชากรที่เกินกว่าขอบเขตของพื้นที่ปฏิบัติการ
  • บริษัทฯ ไม่สามารถควบคุมหรือบรรเทาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อฟื้นฟูให้ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้สิทธินั้นกลับคืนมาได้
  • ผลกระทบ / เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับด้านสิทธิมนุษยชนมีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกที่เป็นอิสระ และมีความน่าเชื่อถือ เพื่อไกล่เกลี่ยปัญหาร่วมกับบริษัทฯ
3 มีผลกระทบปานกลาง
  • บริษัทฯ มีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการดำเนินงานที่ก่อให้เกิดการละเมิดด้านสิทธิมนุษยชน (Legal Complicity)
  • ผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่เป็นผลจากการดำเนินงานของบริษัทฯ หรือห่วงโซ่คุณค่าของบริษัทฯ ส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ปฏิบัติการบางส่วน
  • บริษัทฯ มีความขัดแย้งด้านสิทธิมนุษยชนกับกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ (Vulnerable Group)
2 มีผลกระทบน้อย
  • บริษัทฯ ได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินงานที่ก่อให้เกิดการละเมิดด้านสิทธิมนุษยชนโดยหน่วยงานอื่น (Non-Legal Complicity) แต่ไม่มีส่วนร่วมหรือสนับสนุนใดๆ
  • บริษัทฯ ไม่สามารถตอบสนองต่อข้อกังวลที่เกี่ยวข้องกับด้านสิทธิมนุษยชนจากผู้มีส่วนได้เสียภายในหรือภายนอกได้
1 มีผลกระทบน้อยมาก
  • ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนที่ได้รับจากผู้มีส่วนได้เสียจากภายในหรือภายนอกได้รับการป้องกันแก้ไขในระดับพื้นที่ปฏิบัติการ และโดยกลไกการจัดการข้อร้องเรียนของบริษัทฯ

รูปที่ 1 การจัดลำดับความสำคัญประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน

4. การกำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบและป้องกัน

บริษัทฯ กำหนดมาตรการป้องกันและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน ในประเด็นที่มีระดับความเสี่ยงตั้งแต่สูงถึงสูงมาก เพื่อใช้เป็นแนวทางในการลดและควบคุมผลกระทบเชิงลบให้อยู่ในระดับต่ำหรืออยู่ในระดับที่ยอมรับได้

5. การติดตามและทบทวนผลการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน

บริษัทฯ กำหนดตัวชี้วัดเพื่อติดตามและทบทวนมาตรการลดและควบคุมผลกระทบเชิงลบจากความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนในทุกประเด็น ที่ได้ดำเนินการแล้ว เช่น จำนวนข้อร้องเรียนที่ได้รับและสถานการณ์แก้ไข เป็นต้น เพื่อให้มั่นใจว่าประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนแต่ละประเด็นได้ถูกแก้ไขและป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้เนื่องจากประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนอาจมีการเปลี่ยนแปลงไป ตามการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมทางธุรกิจและผู้มีส่วนได้เสีย ดังนั้นบริษัทฯ จะดำเนินการทบทวนการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่การระบุและประเมินความความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน และมาตรการบรรเทาและป้องกันผลกระทบจากความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงจัดให้มีช่องทางรับข้อร้องเรียนสำหรับพนักงานและผู้มีส่วนได้เสีย ในกรณีที่มีเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัท เพื่อนำมาทบทวนปรับปรุงแก้ไข และสร้างความมั่นใจในประสิทธิภาพของกระบวนการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนอยู่เสมอ

6. การแก้ไขและเยียวยา

บริษัทฯ กำหนดให้มีแนวทางการแก้ไขและมาตรการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งในรูปแบบทางการเงินและไม่ใช่การเงิน ให้กับผู้ที่อาจได้รับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินงานของบริษัทฯ รวมถึงดำเนินการสรุปบทเรียนเพื่อจัดทำมาตรการป้องกันการเกิดซ้ำ